SCI-FI DYSTOPIA โลกอุดมคติที่ล้มเหลวผิดพลาด

“เรื่องเศร้าประการหนึ่งในยุคสมัยของเรา คือเราเชื่อในโลกดิสโทเปียมากกว่าจะเช...
ธ.ค. 19, 2017
candide_admin

“เรื่องเศร้าประการหนึ่งในยุคสมัยของเรา คือเราเชื่อในโลกดิสโทเปียมากกว่าจะเชื่อในโลกยูโทเปีย นั่นอาจเพราะยูโทเปียเป็นโลกที่เราทำได้แต่เฝ้าจินตนาการถึง ในขณะที่ดิสโทเปียคือโลกที่เรากำลังดำรงอยู่กันในตอนนี้”—มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด

หากอ่านทวนประโยคนี้ช้า ๆ หลังอ่านวรรณกรรมแนวดิสโทเปียจบเล่ม ความรู้สึกหดหู่สิ้นหวังจะยิ่งทวีคูณถึงขั้นจมดิ่งกับหนังสือที่อ่านไปเป็นวัน ๆ เลยทีเดียว เชื่อว่าคอวรรณกรรมแนวดิสโทเปียคงเข้าใจดี ส่วนใครที่ยังไม่เคยได้ลองลิ้มชิมรสงานแนวนี้มาก่อน โลกดิสโทเปียคือโลกอีกใบที่จะพาคุณไปพบและใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายอย่างที่ไม่เคยคาดถึง

ก่อนจะมาทำความรู้จักโลกดิสโทเปีย เราต้องรู้จักโลกยูโทเปียก่อน ผู้ริเริ่มคำนี้คือ โทมัส มอร์ เขาเขียนหนังสือชื่อว่า UTOPIA เล่าเรื่องเมืองในอุดมคติชื่อเดียวกับหนังสือ ที่นั่นทุกคน ‘เท่าเทียม’ ไม่มีใครมีทรัพย์สมบัติ ทำอาชีพคล้ายกัน แต่งกายเรียบง่ายคล้ายกัน สถาบัน จารีต ความเชื่อ และสังคม ทั้งหมดถูกจัดการออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบ (แต่สำหรับแอดมิน ความเหมือนกันไปหมดช่างน่ากลัว)

ยูโทเปีย (UTOPIA) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ยู (U) แปลว่า ไม่ (NOT) หรือแปลว่า ดี (GOOD)
ส่วน โทเปีย (TOPIA) แปลว่าสถานที่ (PLACE)

“ยูโทเปีย” (UTOPIA) จึงมีสองความหมาย คือเป็นได้ทั้ง “GOOD-PLACE” สถานที่ที่ดี หรือ “NO-PLACE” สถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง

การเกิดขึ้นของยูโทเปีย นำมาสู่มุมมองตรงข้าม คือการไม่เชื่อในโลกสมบูรณ์แบบ มองว่านั่นคือโลกแห่งการครอบงำ และเกิดศัพท์ใหม่ใช้เรียกมุมมองนี้อีกมากมายหลายคำ แต่ที่ใช้กันมากที่สุด คือ “ดิสโทเปีย” (DYSTOPIA) อย่างที่เราได้ยินกันบ่อยช่วงหลายปีหลังมานี้ อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า ถ้ายูโทเปียคือโลกแห่งอุดมคติ ดิสโทเปีย ก็คือโลกอุดมคติที่ล้มเหลวผิดพลาด วรรณกรรมดิสโทเปียจึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวของโลกในอนาคตที่เต็มไปด้วยความมืดมน การครอบงำ สิ้นหวัง หวาดกลัว การเสื่อมสลายของอะไรบางอย่าง อันเกิดจากความคิดที่ว่าเราจะสามารถสร้างโลกแห่งอุดมคติที่สมบูรณ์แบบได้—ดิสโทเปีย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกอุดมคติอย่างเลี่ยงไม่ได้—เพราะทั้งหมดนี้ซ้อนทับเกี่ยวโยงกันอยู่

อีกคำถามหนึ่งเกี่ยวกับ “ดิสโทเปีย” และ “ยูโทเปีย” ที่พบว่ามีคนกังขากันค่อนข้างมาก คือทั้งสองแนวทางนี้ เหมือนหรือต่างจากนิยายแนววิทยาศาสตร์หรือไซไฟอย่างไร—แอดมินไปค้นข้อมูลมาให้เรียบร้อย ขอตอบว่า ไม่ต่างเลย เพราะทั้งสองคือสาขาย่อยของนิยายแนวไซไฟอีกที นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า— “ไซไฟดิสโทเปีย” —นั่นเอง

สำหรับใครที่สนใจวรรณกรรมไซไฟดิสโทเปีย แอดมินมีผลงานระดับมาสเตอร์พีซมาแนะนำทั้งหมด 7 เล่มด้วยกัน จะมีเล่มไหนบ้าง ไปอ่านรีวิวฉบับสั้นกันได้เลย


สิงโตนอกคอก โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์หมาด ๆ รวมเรื่องสั้นเก้าเรื่องซึ่งชัดเจนในแนวทางไซไฟดิสโทเปียมาก อย่างเช่น ‘จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว’ เรื่องราวในดินแดนอันหนาวเหน็บซึ่งชาวเมืองถูกฤดูกาลอันยากลำบากแร้นแค้นบีบคั้นให้ต้องกินเนื้อสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า แต่ธรรมชาติก็ยังไม่ยอมปรานี นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้นำหนุ่มที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นความตายกับของชิ้นสำคัญที่ต้องดูแลรักษา เรื่อง ‘โอนถ่ายความเป็นมนุษย์’ พูดถึงเรื่องสถานะความเป็นมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ หรือจะเป็นเรื่อง ‘ซินเดอเรลล่าในเมืองหุ่นยนต์’ ซึ่งเล่าถึงสังคมระบอบเผด็จการที่มีหุ่นยนต์เป็นผู้ควบคุมปกครองมนุษย์อย่างโหดร้าย
-
สิงโตนอกคอก (รางวัลซีไรต์ 2560)
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เขียน
แพรวสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์

 

The Handmaid’s Tale สาวชุดแดงแห่งโลกดิสโทเปีย ผลงานจากนักเขียนนิยายดิสโทเปียชื่อดัง มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด โลกสมมติที่ประเทศถูกปกครองโดยเผด็จการคลั่งศาสนา เมื่อสามีภรรยาไม่อาจมีลูกได้ตามธรรมชาติ กลุ่มผู้ปกครองจึงเข้ามากำหนดชนชั้นในสังคมซะใหม่ จับหญิงสาววัยเจริญพันธุ์มาอบรม เลือกหมวกสีขาวชุดสีแดงให้เป็นเครื่องหมายแสดงสถานะ ลดทอนความเป็นคนให้พวกเธอเป็นเพียงเครื่องจักรตั้งครรภ์ ทำหน้าที่รับใช้ทางเพศในบ้านชนชั้นปกครองเพื่อให้กำเนิดบุตรไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่สามารถให้กำเนิดได้อีก นวนิยายที่นำเสนอเรื่องเพศและเรื่องความเป็นมนุษย์ได้อย่างทรงพลัง การกดขี่ลดทอนและทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในหนังรุนแรงมาก ๆ แต่ก็งดงามมาก ๆ เพราะยิ่งโลกตรงนั้นมืดทึบมากเท่าไร แสงแห่งความหวังของตัวละครที่เธอเพียรพยายามรักษาไว้ก็ยิ่งเรื่อเรืองมากขึ้นเท่านั้น
-
The Handmaid’s Tale | เรื่องเล่าสาวรับใช้
มาร์กาเร็ต แอ็ดวูด เขียน จุฑามาศ แอนเนียน แปล

สำนักพิมพ์ Library House จัดพิมพ์

 

 


1984 นวนิยายอมตะของ จอร์จ ออร์เวลล ที่เชื่อว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จัก ก็เป็นงานที่มีความไซไฟดิสโทเปียอย่างชัดเจน เล่าเรื่องของประเทศสมมติที่ชื่อว่า โอชันเนีย ปกครองด้วยพรรคการเมืองที่พยายามควบคุมประชาชนให้มีความคิด คำพูด และการกระทำที่เหมือนกัน ผ่านบทลงโทษและการโฆษณาชวนเชื่อ โทรภาพ การคิดค้นภาษาขึ้นใหม่ และการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นทดแทนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง โลกดิสโทเปียจากอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐเผด็จการ
-
1984
George Orwell เขียน
รัศมี เผ่าเหลืองทอง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ แปล
สำนักพิมพ์สมมติ จัดพิมพ์

 

ยูโทเปียชำรุด โดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียนไทยอีกคนที่ชัดเจนในวรรณกรรมดิสโทเปีย แค่ดูจากชื่อเรื่องก็รู้ รวมเรื่องสั้นเก้าเรื่องนี้นำเสนอสภาพสังคมเจ็บป่วย ผู้คนชำรุดผุกร่อน ความรักล่มสลาย ความโดดเดี่ยวแสนสาหัสของจิตวิญญาณ อาชญากรรม และภาวะของผู้กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง เรื่องราวและตัวละครทั้งประหลาด ทั้งแปลกแยก ไปถึงขั้นโสมม ทำลายโลกแห่งอุดมคติที่เต็มไปด้วยภาพฝันสวยงามลงอย่างสิ้นเชิง
-
ยูโทเปียชำรุด
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เขียน
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม จัดพิมพ์

 


Fahrenheit 451 ของ Ray Bradbury หนังสือที่คนรักหนังสือจะอินมากเป็นพิเศษ นิยายคลาสสิกเล่มนี้ตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่ปี 1953 จะทำยังไงถ้าต้องอยู่ในโลกที่หนังสือทุกเล่มถูกเผาทิ้ง?! เล่มนี้เป็นนิยายไซไฟดิสโทเปียที่แอดมินหดหู่ที่สุด แค่คิดภาพตามก็ชอกช้ำเหลือเกินแล้วค่ะคุณ ตัวเอกเป็นนักผจญเพลิง มีหน้าที่จุดไฟแทนที่จะดับไฟ ที่สำคัญ ไฟที่เขาต้องจุดคือไฟเผาหนังสือ! รวมถึงบ้านที่มีหนังสือเหล่านั้นซุกซ่อนไว้ ผู้คนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ถูกกลุ่มคนผู้มีอำนาจจำกัดทุกสิทธิและขอบเขตสื่อที่จะเข้าถึง นี่เป็นนิยายอมตะอีกเล่มที่สนุกมาก แถมยังเก๋ตั้งแต่ชื่อเรื่อง เพราะ 451 องศาฟาเรนไฮต์ คืออุณภูมิที่ Ray Bradbury บอกว่าหนังสือจะลุกติดไฟได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเชื้อเพลิง! โหย เท่มาก
-
ฟาเรนไฮต์ 451
Ray Bradbury เขียน
ชาญ คำไพรัช แปล
สำนักพิมพ์สมิต จัดพิมพ์

 


The Time Machine นิยายเรื่องเยี่ยมของ เอช. จี. เวลส์ ว่าด้วยการเดินทางข้ามเวลาของชายคนหนึ่งไปยังอนาคต แต่แล้วเขากลับต้องเผชิญการผจญภัยที่คาดไม่ถึง ทั้งด้านสว่างสวยงามและด้านมืดทึบจนเราอ่านแล้วก็อดขนลุกตามไปด้วยไม่ได้ เอช. จี. เวลส์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ การเดินทางข้ามเวลา มนุษย์ต่างดาว คนล่องหน มนุษย์กลายพันธุ์ และวิทยาศาสตร์อัศจรรย์ และผลงานของเขาก็เดินทางข้ามกาลเวลามาทุกยุคทุกสมัยเหมือนชื่อหนังสือของเขาจริง ๆ
-
The Time Machine
เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) เขียน
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปล
สำนักพิมพ์สมมติ จัดพิมพ์

 


โลกที่เราเชื่อ (Brave New World) โดย Aldous Huxley ไซไฟดิสโทเปียอีกเล่มที่ชวนขบคิดตั้งคำถามถึงโลกในอุดมคติอย่างลึกซึ้งใคร่ครวญ เมื่อเราอยู่ในโลกที่ทุกคนถูกควบคุมและกำหนดชะตากรรมตั้งแต่แรกเกิด ถูกจัดแบ่งลำดับชั้นสูงต่ำในสังคม ถูกปลูกฝังชุดคุณค่าต่าง ๆ ถูกรัฐป้อนความหมายการมีชีวิตมาให้ เราจะเข้าใจคำว่าสิทธิเสรีภาพหรือไม่ เรายังต้องการความเป็นปัจเจกชนอยู่ไหม ในโลกแสนสุข โลกที่เราเชื่อว่าไม่มีคำถามที่ว่า “ชีวิตคืออะไร”
-
โลกที่เราเชื่อ | Brave New World
Aldous Huxley เขียน
กมล ญาณกวี แปล
สำนักพิมพ์ freeform จัดพิมพ์

-
นิยายแนวไซไฟดิสโทเปียอาจไม่สดใส สร้างความกดดัน หดหู่ และแสนเศร้า แต่ก็พร้อมจะพาเราไปสู่ช่วงเวลาตกตะกอนความคิด ทำให้ใคร่ครวญอะไร ๆ หลายอย่างได้อย่างคาดไม่ถึง เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่าที่จะสัมผัสเรื่องราวในโลกแห่งอนาคตที่อุดมคติล่มสลายเหล่านี้ เพราะวันหนึ่งข้างหน้า หรือแม้แต่ตอนนี้ เราอาจกำลังขยับเข้าใกล้โลกสมมติเหล่านั้นอยู่ก็ได้ ใครจะรู้