ในโลกศิลปะร่วมสฮิโตะ ชไตเยิร์ล (Hito Steyerl) เเป็นทั้งนักทฤษฎีและเป็นนักปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน หรือบางคนก็เรียกเธอว่า ‘นักทฤษฎีในฐานะศิลปิน’ (theorist-as-artist) และ ‘ศิลปินในฐานะนักทฤษฎี’ (artist-as-theorist) ทั้งงานเขียนและงานศิลปะของเธอมักพูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะหนึ่งในโลกร่วมสมัย ทั้งในด้านการเมือง สังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้น งานของเธอยังพูดถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อในยุคโลกาภิวัฒน์ การแพร่กระจายของสื่อและวัฒนธรรมที่พ่วงไปกับสื่อนั้นในยุคดิจิตอล จนไปถึงสงคราม และเทคโนโลยีทางการทหาร
ปัจจุบัน ฮิโตะเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชานิวมีเดีย (New Media) ในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งกรุงเบอร์ลิน (Berlin University of the Arts)
ฮิโตะทำงานในฐานะนักทฤษฎีและศิลปิน ขนานกันโดยเชื่อมร้อยสองทางด้วยงานค้นคว้าเชิงลึกที่เจืออารมณ์ขัน คำถามสำคัญของฮิโตะคือการเมืองของภาพ การสร้างภาพแทน และการรับรู้ ‘ความจริง’ ผ่านประสบการณ์ทางสายตา ปรากฏการณ์ต่างๆ ในยุคร่วมสมัยจึงถือเป็นสมรภูมิสำคัญของภาพและข้อมูลที่ไหลบ่าอย่างไม่ขาดตอน ทั้งนี้ การรับรู้ทางสายตาไม่ได้จบแค่ในตัวมันเอง แต่ยังพาผู้อ่าน/ผู้ชมเดินข้ามพาดไปแตะมือกับมุมมองหลังยุคอาณานิคม เฟมินิสม์ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การควบคุมทางการเมืองผ่านกลไกทางศิลปะ และศิลปะในฐานะเครื่องมือการก่อร่างสร้างความรับรู้
ประสบการณ์กับสื่อภาพยนตร์ครั้งแรกของฮิโตะคือการทำงานเป็นสตั๊นท์ในวัย 16 ปี และเธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนในปีเดียวกันนั้นเอง แม้เป็นเด็กที่เรียนไม่จบชั้นมัธยม ฮิโตะกลับได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งกรุงโตเกียว (the Tokyo University of Arts) เพื่อศึกษาต่อด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ (cinematography) และการผลิตงานภาพยนตร์สารคดี (documentary filmmaking) ในช่วงปี 1987-1990 ต่อมาเธอจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของวิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Until the End of the World (1991) ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ฮิโตะกลับเข้าไปเรียนในสาขาวิชาการผลิตงานภาพยนตร์สารคดีอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอได้เรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งโทรทัศน์และภาพยนตร์ ณ เมืองมิวนิค (Hochschule für Fernsehen und Film München) หลังจากนั้นในปี 2003 เธอจึงเรียนจบปริญญาเอกทางปรัชญาที่วิทยาลัยแห่งศิลปะ ณ กรุงเวียนนา (the Academy of Fine Arts Vienna)