หนังสือรวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคัดสรรคดีความจำนวน 9 คดี อันล้วนเป็นความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในการต่อสู้ทัดทานการรัฐประหาร จุดเน้นสำคัญของคดีเหล่านี้ คือผู้ถูกกล่าวหาเป็นทั้งผู้แสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และยังเลือกจะต่อสู้ใน “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นตามมาจนถึงที่สุดด้วย ได้แก่
1. คดีของอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ผู้ชูป้าย “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” จนถูกคุมตัวในค่ายทหารและดำเนินคดีตามมา
2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ยืนหยัดต่อต้านรัฐประหาร จนถูกดำเนินคดีถึง 3 คดี
3. คดีของสิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ ผู้ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร และถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 5 ปี
4. คดีของนักศึกษากลุ่มดาวดิน และ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ร่วมกันชูสามนิ้วต่อหน้าหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ และถือป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” จนถูกดำเนินคดี
5. คดีของนักวิชาการ-นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ผ่านการชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”
6. กลุ่มคดีของผู้รณรงค์ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติอันไม่เป็นธรรม
7. กลุ่มคดีของเหล่าผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง ในนามคนอยากเลือกตั้ง แต่กลับถูกกล่าวหาดำเนินคดีนับ 10 คดี
8. คดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ผู้พยายามฟ้องร้องเอาผิดคณะรัฐประหารในข้อหาเป็นกบฏ
9. คดีของกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมที่พยายามฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้กำลังสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ
ทั้ง 9 คดีสำคัญของยุคสมัย คสช. เหล่านี้ จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวของราษฎรผู้ไม่สยบยอม และเลือกจะยืนหยัดคัดค้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมจากการรัฐประหาร แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาชนิด ขณะเดียวกันยังส่องสะท้อนถึงทั้งการใช้อำนาจของกองทัพ และบทบาทการรับรองอำนาจเหล่านั้นโดยสถาบันตุลาการ อันร่วมกันทำให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในระบอบแห่งการรัฐประหารเนิ่นยาวนับ 5 ปี