(ลด 10%) PRE-ORDER บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี :ฝันร้าย

(ลด 10%) PRE-ORDER บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี :ฝันร้าย

300  ฿ 270  ฿ หยิบใส่ตะกร้า

ผู้เขียน :
จี. เค. เชสเตอร์ตัน
แปล :
ไพรัช แสนสวัสดิ์
จัดพิมพ์ :
Shine Publishing House
จำนวน :
312 หน้า
การหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างนักอนาธิปไตยและกองตำรวจนักปรัชญา ที่ลงเอยด้วยเหตุการณ์สุดประหลาด

ผลงานของนักเขียนผู้ส่งอิทธิพลต่อ สลาวอย ชิเชค และ ออร์สัน เวลล์

พร้อมบทความพิเศษโดย กิตติพล สรัคคานนท์

 

บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี – The Man Who Was Thursday– เป็นนวนิยายเรื่องที่สองของเชสเตอร์ตันซึ่งเขียนและตีพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดอังกฤษเมื่อปี 1908 โดยไม่มีการชี้แนะจากตัวผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ เจ. ดับเบิลยู. แอร์โรว์สมิธ ว่าเป็นเรื่องประเภทใด แต่หลังจากนั้นได้รับการอธิบายและเสนอแนะไว้ในหมู่นักวรรณกรรมหลายท่านว่าเรื่องนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็น ‘นวนิยายระทึกขวัญเชิงอภิปรัชญา’ (metaphysical thriller)

เชสเตอร์ตันเสนอภาพบรรยากาศของลอนดอนและจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในยุโรประหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 20 ด้วยร้อยแก้วที่สลักเสลาออกมาได้อย่างน่าพิศวง ขณะที่ในหลายประเทศพลพรรคของฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งหลาย เช่น คอมมิวนิสต์ นักชาตินิยม และอนาธิปไตยร่วมกับสุญนิยม กำลังขยายตัวเติบใหญ่ผงาดขึ้นและเผยแพร่อุดมการณ์อย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่เก่าก่อน รวมถึงการคุกคามบังคับและการโจมตีลักษณะก่อการร้ายของพวกหัวรุนแรงบ้างเป็นครั้งคราว ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วคือภายในเพียงไม่กี่ปีหลังจากการตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร อาร์คดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งออสเตรีย ซึ่งเป็นชนวนเหตุทำให้โลกก้าวเข้าสู่มหาสงครามครั้งแรก

เป็นการยากมากที่จะจำแนก บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี ว่าแท้จริงแล้วเป็นวรรณกรรมประเภทใด นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่านี่คือหนังสือที่ยากต่อการปักหมุดบ่งชี้ให้ชัดเจน แม้ว่ามันได้ยืนหยัดผ่านบททดสอบของกาลเวลามาเกินกว่าศตวรรษ ขณะยังคงเป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเชสเตอร์ตัน ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งยากสำหรับผู้อ่านยุคนี้ แต่ยังเคยก่อความสับสนแก่นักวิจารณ์ที่พยายามอธิบายและระบุประเภทในยุคก่อนโน้นเช่นกัน และแม้กระทั่งเชสเตอร์ตันเองในอัตชีวประวัติที่เขาเขียนก็ยังไม่มีคำอธิบายอย่างใดบอกไว้อย่างสมบูรณ์ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จัดอยู่ในแนวทางใดแน่นอน มันอาจเป็นการผสมผสานระหว่างบางส่วนของงานสืบสวน จารกรรม ความลึกลับอัศจรรย์ การเปรียบเทียบแฝงเร้นความหมายแบบอุปมานิทัศน์ เทววิทยา และรวมถึงกระทั่งบางส่วนของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะของมนุษย์

แต่ด้วยการที่มีลักษณะเนื้อเรื่องซึ่งปรากฏความไร้สาระในหลายช่วงตอนอาจทำให้ผู้อ่านบางคนตีความเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงชุดของความฝันภายใต้จินตนาการของตัวเอกผู้ดำเนินเรื่อง เกเบรียล ไซม์ และยังมีผู้อ่านสมัยใหม่หลายคนวิจารณ์ว่าวิธีที่ง่ายและสั้นที่สุดในการอธิบายนวนิยายที่มีชื่อเสียงเด่นสุดของเชสเตอร์ตันเรื่องนี้คือการระบุว่ามันเป็นเสมือน การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์ สำหรับผู้ใหญ่นั่นเอง เพราะว่าเรื่องราวของตัวละครนำนั้นดูน่าประหลาดพอกันกับเรื่องของอลิซตัวน้อย นอกจากนี้มันยังสะท้อนถึงฝันร้ายน่าหวาดหวั่นแนวเดียวกันกับงานของคาฟคา และโดสโตเยฟสกีในหลายต่อหลายด้าน

อาจมีผู้วิจารณ์บางคนระบุว่ามันคือเรื่องการผจญภัยของอาชญากรมือสังหารที่เผชิญกับตำรวจมือฉกาจ แต่คาดได้ว่าผู้เขียนที่มีผลงานหลากหลายคนนี้บอกเล่าเรื่องสืบสวนได้อย่างชนิดไม่มีใครเหมือน ในลักษณะนี้ถือได้ว่า บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมมาตลอดกาลนาน และหากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงแง่มุมอื่นใดแล้วคนกลุ่มนี้ถือกันว่าเรื่องนี้นับเป็นการแสดงพลังฝีมืออันงดงามของการเขียนเรื่องแนวระทึกใจเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในไม่นานนักผู้อ่านจะพบว่ามันเป็นมากกว่าเรื่องสืบสวน เมื่อปล่อยจิตใจให้ไหลเลื่อนไปตามการบอกเล่าอย่างเร่งรีบด้วยสไตล์อันยอดเยี่ยม ในไม่ช้าผู้อ่านจะเห็นว่าตนกำลังถูกนำพาตัวดิ่งลงไปในนํ้าซึ่งลํ้าลึกกว่าที่เขาได้คาดคิดไว้

และข้อสรุปความตอนท้ายเรื่องซึ่งไม่อาจคาดเดาได้เลยจะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้แก่ผู้รักวรรณกรรมในยุคสมัยใหม่เช่นเดียวกับที่เคยปรากฏต่อผู้อ่านนับพันนับหมื่นมาแล้วเมื่อครั้งที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก นั่นคือประสบการณ์ที่หลบเลี่ยงไม่ได้และน่าประทับใจขณะที่ ‘ประธานวันอาทิตย์’ ถูกเผยโฉมออกมาในที่สุดแบบที่ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะเป็นอย่างนั้น

เช่นเดียวกับนิยายของเชสเตอร์ตันส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ออกมาภายหลัง นักวิจารณ์บางท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้คือเรื่องราวเปรียบเทียบเชิงอุปมานิทัศน์ (Allegory) เกี่ยวกับความเชื่อในคริสต์ศาสนาหลายบริบท เชสเตอร์ตันเคยประสบภาวะซึมเศร้าในช่วงสั้นระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย และเขาอ้างว่าหลังจากนั้นเขาเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นการยืนยันเป็นพิเศษว่าคุณความดีและความชอบธรรมเป็นหัวใจของทุกแง่มุมในหมู่มวลมนุษยชาติ

เชสเตอร์ตันเคยแย้มพรายเกี่ยวกับประเด็นสำคัญนี้ไว้เพียงเล็กน้อย เขาเคยบอกว่าสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้เขาไม่ได้พยายามจะแสดงออกเป็นงานเชิงอุปมานิทัศน์เท่านั้น หรืออธิบายความเชื่อทางเทววิทยาอย่างจริงจังตามแบบที่เขาเขียนไว้ในบทความ บทกวี หรือร้อยแก้วฉบับอื่น ที่ไม่ได้เป็นรูปแบบนวนิยาย

สิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ผู้อ่านน่าจะสามารถอ่านได้ด้วยหลากหลายระดับของความตระหนักรู้และยังคงสนุกสนานไปกับมัน อาจมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องระทึกขวัญ เพ้อฝันเลื่อนลอย ประกอบด้วยช่วงขณะที่น่าตลกขำขัน หรือการประชดประชันทางการเมือง หรือเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ที่แสวงหาพระเจ้าในแต่ละสถานที่ซึ่งค่อนข้างผิดที่ผิดทางทั้งหมด หากมีส่วนตอนใดที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ดูไร้สาระ หรือไม่น่าจะเข้าใจได้ง่ายก็อาจปล่อยผ่านไปก่อนในขั้นแรกก็ได้

ไม่นานก่อนเขาถึงแก่กรรมเมื่อปี 1936 เชสเตอร์ตันเขียนชี้แจงจุดยืนของเขาสำหรับเรื่องนี้ในบทความที่ เดอะ อิลลัสเตรท ลอนดอน นิวส์ โดยเน้นว่าแนวเรื่องหลักของนวนิยายนี้คือ ‘ฝันร้าย’ สอดคล้องกับชื่อรองของเรื่อง ก็แค่นั้นเอง และอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า:

“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตั้งใจบรรยายโลกแห่งความจริงอย่างที่มันเป็น หรืออย่างที่ผมคิด แม้ว่าความคิดของผมในช่วงนั้นไม่ค่อยสงบราบรื่นเหมือนที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้ จุดประสงค์ของนวนิยายคือเพื่ออธิบายถึงโลกแห่งความสงสัยและความหมดอาลัยตายอยากซึ่งผู้มองโลกแง่ร้ายมักจะออกมาให้อรรถาธิบายกันมากในสมัยนั้น มีเพียงแสงริบหรี่แห่งความหวังในความหมายสองนัยบางประการของความสงสัยดังกล่าว ซึ่งแม้แต่ผู้มองโลกแง่ร้ายก็ยังอาจรู้สึกถึงมันได้บ้างอย่างไม่ค่อยปะติดปะต่อนัก”

 

Pre order 11 -25 มีนาคม จัดส่งหนังสือ 28 มีนาคมเป็นต้นไป ถ้าสั่งเล่มนี้พร้อมเล่มอื่น จะจัดส่งพร้อมกัน ถ้าต้องการเล่มอื่นก่อน กรุณาสั่งแยกเป็นสองออเดอร์