เยิรเงาสลัว เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น จุนอิชิโร ทานิซากิ และแปลโดย สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ
ทานิซากิเริ่ม เยิรเงาสลัว ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการพยายามติดตั้งเครื่องใช้ไม้สอยอันทันสมัยในบ้านแบบญี่ปุ่น เช่น เครื่องทำความอบอุ่น ไฟฟ้า เครื่องสุขภัณฑ์แบบตะวันตก ต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องห้องน้ำห้องสุขานั้น ทานิซากิมีความเห็นอย่างรุนแรงเด็ดเดี่ยวว่า ห้องสุขาญี่ปุ่นต้องอาศัยความมืดเป็นเครื่องเสริมให้ความงามปรากฏเด่นออกมา ดังนั้นการใช้กระเบื้องสีต่าง ๆ ที่ส่งประกายแวววับ เมื่อต้องแสงในห้องสุขามีแต่จะทำลายความงามตามประเพณีดั้งเดิมญี่ปุ่นเสียสิ้น นอกจากห้องสุขาแล้วทานิซากิยังได้ให้ความเห็นว่า ถ้วยชามเครื่องเขินแบบญี่ปุ่นจะงดงามก็ต่อเมื่อผู้มองอยู่ในห้องมืด ผู้หญิงญี่ปุ่นจะงามสุดเมื่อมองใต้แสงเทียน และการที่ชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมหยก เหตุหนึ่งเป็นเพราะหยกไม่ส่งแสงเจิดจ้า แต่สะท้อนแสงเรือง ๆ ที่นิ่มนวลทานิซากิออกตัวว่า "เราไม่ได้รังเกียจทุกสิ่งที่ทอประกายแวววับ แต่เราเลือกนิยมความเรืองรองอันนุ่มนวลลึกล้ำมากกว่าความเจิดจ้าอันผิวเผิน" ปรากฏการณ์เหล่านี้และในกรณีอื่น ๆ อีกมากมายล้วนเป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปที่ว่า ความงามตามแบบประเพณีญี่ปุ่นนั้นจะปรากฏชัดเจนในที่มืดสลัวเท่านั้น
เยิรเงาสลัว เป็นหนังสือที่สถาปนิก จิตรกร ประติมากร นักออกแบบ และศิลปินแขนงต่าง ๆ ไม่ควรจะพลาด และแม้นักคิดและคนทั่วไปผู้สนใจในศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ควรจะพลาดหนังสือที่ดีนี้ด้วยเช่นกัน